หมู่บ้านวังพา ในอดีตนั้นถือได้ว่าเป็นพื้นที่สีแดง หรือที่รู้จักกันว่าเป็นพื้นที่คอมมิวนิส และได้สงบลงหลังจากมีนโยบายการเมืองนำหน้าการทหารของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือที่เรียกกันว่า “ใต้ร่มเย็น” ทำให้คอมมิวนิสทุกคนพร้อมใจกันมอบตัว เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย…ใต้ร่มเย็น ในเวลาต่อมา
นอกจากนั้นบ้านวังพาถือได้ว่าเป็นแหล่งแร่วุลแฟรมขนาดใหญ่ที่หนึ่งของภาคใต้เช่นกัน โดยในช่วงประมาณปี 2456 ได้มีการยื่นขอประทานบัตรต่อสำนักงานโลหะกิจ หรือ สำนักงานทรัพยากรธรณีจังหวัดสงขลา (ปัจจุบัน) ซึ่งผู้ขอประทานบัตรเหมืองแร่ที่บ้านวังพาสมัยนั้นเช่น
1. พระยาอรรถกระวีสุนทร (นามเดิม สงวน ศตะรัตน์ บุตรของ พระยาดำรงราชานุภาพ (ช้อย)
2. ขุนนิพัทธ์จีนนคร หรือ นายเจียกีซี ผู้ก่อตั้งบริษัทนิพัทธ์และบุตร ดำเนินกิจการทั้งแร่ดีบุกและวุลแฟรม
3. นายชีจือถิ่น นายซียกซัน (ท่านบิดาของนายชีกิมหยง ซึ่งต่อมานายซียกซัน ได้เป็นขุนศุภสารรังสรรค์) ตั้งบริษัท เถ้าเหยียนกงสี ทำเหมืองแร่ดีบุกวุลแฟรมปีเดียวกัน เป็นต้น
ซึ่งปัจจุบันยังมีอุโมงค์ที่ได้ทำการขุดเจาะและอุปกรณ์ที่ชาวบ้านใช้ร่อนแร่ยังหลงเหลืออยู่ พอที่จะหาดูได้จากบ้านของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน
หมู่บ้านวังพาในปัจจุบันนั้นเป็นหมู่บ้านที่สงบ ร่มรื่น เหตุเพราะอยู่เชิงเขาวังพา ซึ่งมีป่าไม้และแหล่งต้นน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา โดยหมู่บ้านวังพาตั้งอยู่ติดกับ หน่วยพิทักป่าวังพา และ สถานีวิจัยต้นน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งภายในหน่วยงานแห่งนี้นั้น มีน้ำตกที่สวยงามอีกด้วย และเมื่อพูดคุยถึงวิธีชีวิตของคนในชุมชน เนื่องจากทางเข้าออกชุมชนมีไม่กี่เส้นทางทำให้บ้านวังพาเสมือนหมู่บ้านที่ถูกโอบล้อมด้วยภูเขาและธรรมชาติ อาชีพของคนในชุมชนส่วนใหญ่คือ ทำสวนผลไม้ และ สวนยางพารา เหตุนี้เองจึงทำให้ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนนั้นเป็นแบบเรียบง่าย คนส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องกัน เมื่อมีกิจกรรมในชุมชน หรือกิจกรรมที่องค์กรและหน่วยงานต่างๆ จากภายนอกท้องถิ่นเข้ามาจัดกิจกรรมในชุมชน ชาววังพาทุกคนจะพร้อมใจอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และด้วยสิ่งเหล่านี้ คุณลุงก็บอกกับเราด้วยว่า
“ชาววังพาพร้อมที่จะต้องรับผู้มาเยือนด้วยความเรียบง่ายและโอบอ้อมอารีของคนในชุมชนด้วยเช่นเดียวกัน…”
หลังจากที่เราได้พาทุกท่านเข้าไปสัมผัสกับวิธีชีวิตของชาวบ้านวังพากันแล้ว เพื่อไม่เป็นการเสียโอกาสไปเที่ยวน้ำตก ในหน่วยพิทักษ์ป่าวังพากันเลย
การเดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 (หาดใหญ่ – รัตภูมิ) และแยกซ้ายเข้าถนนหลวงชนบท 1026 เส้นทางไปน้ำตกโตนงาช้าง ขับรถไปสักพักเราก้อจะพบกับแยกซ้าย เพื่อไปยังหมู่บ้านวังพาและมุ่งสู่หน่วยอุทยาน และสถานีวิจัยต้นน้ำทะเลสาบสงขลา พอถึงที่หมาย สิ่งที่สัมผัสได้เป็นอย่างแรกเลยคือ ความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง เพราะขนาดทางเข้าหน่วยอุทยานสองข้างทางยังคงเต็มไปด้วยป่าไม้ และถนนที่เป็นลูกรัง
เมื่อเราเดินทางไปถึงยังหน่วยอุทยานและสถานีวิจัยต้นน้ำทะเลสาบสงขลา ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจาก คุณสุวัฒน์ จันธิวงค์ ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีวิจัยต้นน้ำทะเลสาบสงขลา และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถานีวิจัยฯแห่งนี้
น้ำตกแห่งนี้จะมีอยู่หลายชั้น โดยแต่ละชั้นมีความสวยงามแตกต่างกันไป เช่นโตนเส้นหมี่ ที่อยู่ชั้นบนสุด ลักษณะของน้ำตกชั้นนี้นั้น น้ำจะตกลงมาเป็นเส้นคล้ายกับเส้นหมี่ ซึ่งจะมีความสวยงามมาก แต่เพราะเส้นทางไม่อำนวย เนื่องจากวันก่อนที่ทีมงานจะเดินทางไป ได้มีฝนตกหนักจึงทำให้ทางเข้ามีความลื่นมาก ทางทีมงานจึงถ่ายทำได้แค่ชั้นโตนเรือเท่านั้น และหากจะต้องการไปยังชั้นอื่นๆ จะต้องใช้เวลาประมาณ 1 วันสำหรับการเดินทางขึ้นไป-กลับ
เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีผู้พบเห็น ตัวสมเสร็จ สัตว์ป่าสงวนซึ่งหาดูได้ยากยิ่งและมีปริมาณที่น้อยลงทุกที ลงมาเดินเล่นใกล้ ๆ น้ำตกแห่งนี้ และคำบอกเล่านี่เองที่ทำเอาทีมงานรู้สึกตื่นเต้น และ ภูมิใจกับความสมบูรณ์ที่ยังคงอยู่และถูกพิทักษ์รักษาไว้เป็นอย่างดี
น้ำตกวังพายังคงความสวยงามและความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และรอทุกท่านที่สนใจในการท่องเที่ยวน้ำตกเชิงผจญภัย และ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้ไปสัมผัสด้วยตัวเอง และหวังว่าท่านจะได้รับความสุข